ทีมวิศวกรของ NASA สามารถแก้ปัญหาบนยาน Voyager 1 วัตถุที่เดินทางไกลโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 2.3 หมื่นล้านกิโลเมตร ด้วยอายุ 45 ปี ได้แล้ว !!!! หลังส่งข้อมูล Telemetry ที่ไม่ทราบความหมายกลับมายังโลก !!!
ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณช่วงกลางเดือน กรกฏาคม ที่ผ่านมา ทีมวิศวกรรมของยานอวกาศโวเอเจอร์ 1 ได้เผชิญปริศนา ภายหลังจากที่นักสำรวจระหว่างดวงดาวยังคงทำงานตามปกติ สามารถรับและดำเนินการคำสั่งจากโลก พร้อมกับรวบรวมและส่งคืนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่อยู่ๆกลับพบว่าการอ่านข้อมูลจากระบบการควบคุมของยาน (AACS) มีปัญหา
โดย AACS เป็นระบบควบคุมทิศทางของยานอวกาศอายุ 45 ปี เหนือสิ่งอื่นใด มันมีหน้าที่ทำให้เสาอากาศกำลังสูงของยานโวเอเจอร์ 1 หันมาที่โลกได้อย่างแม่นยำ และสามารถส่งข้อมูลกลับบ้านได้ สัญญาณทั้งหมดบ่งชี้ว่า AACS ยังคงทำงานอยู่ แต่ข้อมูลการวัดและการส่งข้อมูลทางไกลได้ค่าที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ส่งกลับมาดูเหมือนถูกสร้างขึ้นแบบสุ่ม อ่านค่าไม่ได้ และไม่สะท้อนสถานะจริงที่เกิดขึ้นกับยาน
ปัญหานี้ไม่ได้ทำให้ระบบป้องกันข้อผิดพลาดบนยานทำงาน ซึ่งระบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้ยานอวกาศเข้าสู่ "โหมดปลอดภัย (Safe Mode)" ซึ่งเป็นสถานะที่ยานจะปิดระบบที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เพื่อให้วิศวกรมีเวลาในการวินิจฉัยและแก้ปัญหา โดยปัจจุบันสัญญาณของยานโวเอเจอร์ 1 ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งบ่งชี้จากการที่เสาอากาศกำลังสูงยังคงหันอยู่ในทิศทางที่ตั้งไว้ซึ่งชี้ตรงมายังโลก
ล่าสุดทีมวิศวกรของยานโวเอเจอร์ 1 เพิ่งซ่อมแซมระบบ AACS ได้สำเร็จ โดยที่มาของปัญหาคือ
AACS ได้ส่งข้อมูล telemetry ผ่านคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดที่หยุดทำงานไปเมื่อหลายปีก่อนและคอมพิวเตอร์ชุดนั้นทำให้ข้อมูลเสียหาย
Suzanne Dodd ผู้จัดการโครงการของ Voyager กล่าวว่าเมื่อพวกเขาสงสัยว่านี่เป็นปัญหา ทีมวิศวกรจึงเลือกที่จะลองใช้วิธีแก้ปัญหาที่มีความเสี่ยงต่ำ คือสั่งให้ AACS เปลี่ยนเส้นทางข้อมูลกลับไปยังคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานตามปกติ และสามารถแก้ไขปัญหาได้
ทีมวิศวกรยังไม่ทราบว่าเหตุใด AACS จึงเริ่มกำหนดเส้นทางข้อมูล telemetry ไปยังคอมพิวเตอร์ที่ปิดระบบไปแล้ว แต่น่าจะได้รับคำสั่งที่ผิดพลาดซึ่งสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดเครื่องอื่นบนยาน หากเป็นกรณีนี้ แสดงว่ามีปัญหาที่อื่นบนยานเกิดขึ้นด้วย ทีมงานจะทำการค้นหาปัญหาที่ซ่อนอยู่ต่อไป แต่พวกเขาไม่คิดว่ามันจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพในระยะยาวของยานโวเอเจอร์ 1
“เรายินดีที่ระบบ telemetry กลับมาทำงานปกติ” Dodd กล่าว “เราจะอ่านหน่วยความจำ AACS แบบเต็มและดูทุกๆอย่างที่มันทำ ซึ่งจะช่วยให้เราวินิจฉัยปัญหาที่เกิดตั้งแต่แรก และเรายังมีการวิเคราะห์ที่ต้องทำมากกว่านี้”
Voyager 1 และ Voyager 2 สำรวจระบบสุริยะของเรามาเป็นเวลา 45 ปีแล้ว ขณะนี้ยานทั้งสองอยู่ในช่องว่างระหว่างดวงดาว (Interstellar) บริเวณนอกเฮลิโอพอส หรือฟองอากาศของอนุภาคพลังงานและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์
ปัจจุบันยานโวเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลก 1.45 หมื่นล้านไมล์ (2.33 หมื่นล้านกิโลเมตร) และใช้เวลาส่งข้อมูล 20 ชั่วโมง 33 นาทีแสง นั่นหมายความว่าจะใช้เวลาประมาณสองวันในการส่งข้อความไปยังยานโวเอเจอร์ 1 และรอรับคำตอบจากยาน
ยานโวเอเจอร์ 2 แฝดของยานโวเอเจอร์ 1 (ปัจจุบันอยู่ห่างจากโลก 1.21 หมื่นล้านไมล์ หรือ 1.95 หมื่นล้านกิโลเมตร) ยังคงทำงานตามปกติ
แม้จะมีความท้าทายในการใช้งานยานอวกาศอายุ 45 ปี แต่ทีมวิศวกรก็กำลังทำงานเพื่อให้มันใช้งานได้นานที่สุด
ยานโวเอเจอร์ทั้งสองใช้งานได้นานกว่าที่ผู้วางแผนภารกิจคาดไว้มาก และเป็นยานอวกาศเพียกลุ่มเดียวที่รวบรวมข้อมูลในอวกาศตรงพื้นที่ระหว่างดวงดาว ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่นี้ช่วยผลักดันให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเฮลิโอสเฟียร์ ซึ่งเป็นแนวกั้นแบบกระจายที่ดวงอาทิตย์สร้างขึ้นรอบๆ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา
ยานอวกาศแต่ละลำผลิตพลังงานไฟฟ้าได้น้อยกว่า 4 วัตต์ต่อปี ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถที่ยานทำงานได้ ทีมวิศวกรรมภารกิจได้ปิดระบบย่อยและเครื่องทำความร้อนต่างๆ เพื่อสำรองพลังงานสำหรับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และระบบที่สำคัญ ยังไม่มีการปิดเครื่องมือวิทยาศาสตร์อันเป็นผลมาจากพลังงานที่ลดน้อยลง และทีม Voyager กำลังทำงานเพื่อให้ยานอวกาศทั้งสองทำงานและส่งข้อมูลได้จนถึงอย่างน้อยปี 2025
Source : NASA
Article By : โลกไอทีวันนี้
Comments
Post a Comment