NASA ได้คำตอบ เสียงประหลาดที่ดังบนยาน Starliner คืออะไร !!! ก่อนเตรียมส่งยานเปล่ากลับโลก ในวันที่ 6 กันยายน นี้ !


ก่อนหน้านี้ในวันที่ 30 สิงหาคม ลูกเรือของยานสตาร์ไลเนอร์ โดยเฉพาะบัตช์ วิลมอร์ นักบินอวกาศของ NASA รายงานว่าได้ยินเสียง "คล้ายโซนาร์" ดังออกมาจากลำโพงภายในยานสตาร์ไลเนอร์ขณะจอดเทียบท่าอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

เสียงดังกล่าวฟังดูเหมือนเสียงโซนาร์ของเรือดำน้ำหรือเสียงคล้ายเสียงคนเคาะยานจากภายนอก อย่างไรก็ตาม เสียงดังกล่าวได้ยินได้เฉพาะผ่านลำโพงภายในยานเท่านั้น ไม่ได้ยินจากภายในห้องโดยสารโดยตรง

วิลมอร์ติดต่อศูนย์ควบคุมภารกิจที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันในเมืองฮูสตัน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเสียงดังกล่าว เขาเอ่ยถึงเสียงดังกล่าวระหว่างการสื่อสารทางวิทยุ และถามว่าศูนย์ควบคุมภารกิจสามารถได้ยินเสียงที่เขาได้ยินได้หรือไม่

ภารกิจของยานสตาร์ไลเนอร์ซึ่งควรจะกินเวลานานแค่แปดวัน ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงการล่าช้าอย่างมากเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค เช่น การรั่วไหลของฮีเลียมและปัญหาตัวขับเคลื่อนก่อนที่จะปล่อยยาน ทำให้ปัจจุบันตัวยานอวกาศจอดเทียบท่าที่สถานี ISS มานานกว่า 2 เดือน และลูกเรือทั้ง 2 ของยานสตาร์ไลเนอร์ ก็ต้องอยู่โยงเฝ้าสถานีอวกาศไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า เพื่อรอกลับโลกกับยาน Dargon ของ SpaceX แทน

และล่าสุดนี้ NASA ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า

“เสียงเต้นเป็นจังหวะจากลำโพงในยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์ของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งบัตช์ วิลมอร์ นักบินอวกาศของ NASA ได้ยินบนสถานีอวกาศนานาชาติหยุดลงแล้ว มันคือ เสียงสะท้อนจากลำโพง เป็นผลมาจากการกำหนดค่าเสียงระหว่างสถานีอวกาศและสตาร์ไลเนอร์ ระบบเสียงของสถานีอวกาศมีความซับซ้อน ทำให้สามารถเชื่อมต่อยานอวกาศและโมดูลหลายลำเข้าด้วยกันได้ และมักเกิดเสียงรบกวนและเสียงสะท้อน ลูกเรือได้รับคำขอให้ติดต่อศูนย์ควบคุมภารกิจเมื่อได้ยินเสียงที่มาจากระบบสื่อสาร เสียงสะท้อนจากลำโพงที่วิลมอร์รายงานไม่มีผลกระทบทางเทคนิคต่อลูกเรือสตาร์ไลเนอร์ หรือการปฏิบัติงานของสถานี รวมถึงการที่สตาร์ไลเนอร์ปลดการเชื่อมต่อจากสถานีโดยไม่มีลูกเรือในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน นี้”

โดยเสียงดังกล่าวสามารถรับฟังได้ตั้งแต่วินาทีที่ 0.44 เป็นต้นไปได้ที่นี่

ทั้งนี้ยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์มีกำหนดปลดออกจากการเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในวันที่ 6 กันยายน นี้ เพื่อกลับสู่โลกโดยระบบอัตโนมัติ แบบไม่มีลูกเรือเดินทางมาด้วย โดยเป็นการตัดสินใจเพื่อความปลอดภัยของชีวิตนักบินอวกาศทั้งสอง

VDO Source : Disaster Tracker
Article By : โลกไอทีวันนี้

Comments