ไทย ประกาศบังคับใช้ กฎหมาย e-Service แล้ววันนี้ !!! ทุกบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Line , Apple , Google , YouTube , Netflix , WhatApp , Spotify และอีกมากมาย ต้องเสียภาษีให้ประเทศ !!!



เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ตามที่กรมสรรพากรเสนอ เรียกว่า "กฎหมาย e-Service" 

ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ 




โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวก
แก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ใจความสำคัญ




"กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากการให้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี"

“สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้
ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด” 

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๐/๑) และ (๑๐/๒) ของมาตรา ๗๗/๑ แห่งประมวลรัษฎากร

(๑๐/๑) 

"บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ" (แปลง่ายๆคือ คอนเท้นต์ที่จำหน่ายในแพลตฟอร์มนั้นๆ เช่น สติ๊กเกอร์ไลน์ , เกมส์หรือแอพพลิเคชั่นจากสโตร์ต่างๆ , ภาพยนตร์ที่เสียเงินรับชม เป็นต้น)

(๑๐/๒) 

"อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ” (แปลง่ายคือ ผู้ให้บริการ เช่น Netflix , Line , Apple , Google , Facebook)

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสาม ของมาตรา ๘๒/๑๓ แห่งประมวลรัษฎากร 

“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษี
และชำระภาษีตามมาตรา ๘๓ 

ในกรณีผู้ประกอบการตามวรรคสอง ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบบริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์
แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ




ทั้งนี้สรรพากรคาดว่าจะสามารถเก็บรายได้เข้ารัฐมากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มมีผลบังคับจัดเก็บภาษีจากรายได้ทั้งหมดของผู้ให้บริการกลุ่มดังกล่าวทตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้เป็นต้นไป 

ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตาดูอย่างมากว่าจะส่งผลกระทบกับด้านของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะออกกฎหมายบังคับเก็บภาษีกับผู้ให้บริการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับคุ้มครองผู้บริโภคว่า หากผู้ให้บริการปรับขึ้นราคาเพื่อชดเชยกับภาษีที่ต้องเสียไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นว่า ผู้บริโภคจะต้องรับภาระเสียค่าบริการที่สูงขึ้นนั่นเอง

Article By : โลกไอทีวันนี้ 

Comments