วิศวกรของ NASA กำลังเผชิญปัญหา หลังยาน Voyager 1 วัตถุที่เดินทางไกลโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 2.3 หมื่นล้านกิโลเมตร ด้วยอายุ 45 ปี ส่งข้อมูล Telemetry ที่ไม่ทราบความหมายกลับมายังโลก !!!



ทีมวิศวกรรมของยานอวกาศโวเอเจอร์ 1 ของนาซ่า กำลังพยายามไขปริศนา ภายหลังจากที่นักสำรวจระหว่างดวงดาวของเรายังคงทำงานตามปกติ สามารถรับและดำเนินการคำสั่งจากโลก พร้อมกับรวบรวมและส่งคืนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่อยู่ๆกลับพบว่าการอ่านข้อมูลจากระบบการควบคุมของยาน (AACS) มีปัญหา ที่ไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับยาน 

โดย AACS เป็นระบบควบคุมทิศทางของยานอวกาศอายุ 45 ปี  เหนือสิ่งอื่นใด มันทำให้เสาอากาศกำลังสูงของยานโวเอเจอร์ 1 หันมาที่โลกได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถส่งข้อมูลกลับบ้านได้  สัญญาณทั้งหมดบ่งชี้ว่า AACS ยังคงทำงานอยู่ แต่ข้อมูลการวัดและส่งข้อมูลทางไกลที่ส่งคืนนั้นไม่ถูกต้อง  ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ส่งกลับมาดูเหมือนถูกสร้างขึ้นแบบสุ่ม อ่านค่าไม่ได้ และไม่สะท้อนสถานะจริงที่เกิดขึ้นกับยาน

ปัญหานี้ไม่ได้ทำให้ระบบป้องกันข้อผิดพลาดบนยานทำงาน ซึ่งระบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้ยานอวกาศเข้าสู่ "โหมดปลอดภัย (Safe Mode)" ซึ่งเป็นสถานะที่ยานจะปิดระบบที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เพื่อให้วิศวกรมีเวลาในการวินิจฉัยและแก้ปัญหา โดยปัจจุบันสัญญาณของยานโวเอเจอร์ 1 ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งบ่งชี้จากการที่เสาอากาศกำลังสูงยังคงหันอยู่ในทิศทางที่ตั้งไว้ซึ่งชี้ตรงมายังโลก

ทีมวิศวกรได้ติดตามตรวจสอบสัญญาณดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สันนิฐานว่าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นมาจาก AACS โดยตรง หรือระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลทางไกล ทีมงานไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสิ่งนี้จะส่งผลต่อระยะเวลาที่ยานอวกาศสามารถรวบรวมและส่งข้อมูลวิทยาศาสตร์ไปนานแค่ไหน

ปัจจุบันยานโวเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลก 1.45 หมื่นล้านไมล์ (2.33 หมื่นล้านกิโลเมตร) และใช้เวลาส่งข้อมูล 20 ชั่วโมง 33 นาทีแสง นั่นหมายความว่าจะใช้เวลาประมาณสองวันในการส่งข้อความไปยังยานโวเอเจอร์ 1 และรอรับคำตอบจากยาน

Suzanne Dodd ผู้จัดการโครงการสำหรับยานโวเอเจอร์ 1 และ 2 ของห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion ของ NASA ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้กล่าวว่า 


"ความลึกลับเช่นนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับภารกิจ Voyager  “ยานอวกาศทั้งสองมีอายุเกือบ 45 ปี ซึ่งเกินความคาดหมายของเราไปไกลมากแล้ว โดยปัจจุบันยานยังอยู่ในอวกาศบริเวณพื้นที่ระหว่างดวงดาว (interstellar) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีการแผ่รังสีสูงที่ไม่มียานอวกาศไหนเคยเดินทางไปถึงมาก่อน มันจึงมีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับทีมวิศวกร  แต่ฉันคิดว่าหากมีวิธีแก้ปัญหานี้กับ AACS ทีมของเราจะค้นพบมัน”

และมีความเป็นไปได้ว่าทีมอาจไม่พบแหล่งที่มาของความผิดปกติและจะปรับตัวเข้ากับมันแทน Dodd กล่าว  หากพวกเขาพบแหล่งที่มา พวกเขาอาจสามารถแก้ไขปัญหาผ่านการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์หรืออาจทำได้โดยใช้ระบบฮาร์ดแวร์สำรองของยานอวกาศ


โดยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทีม Voyager ใช้ฮาร์ดแวร์ชุดสำรอง ในปี 2017 เครื่องยนตร์ขับดันหลักของยานโวเอเจอร์ 1 แสดงให้เห็นสัญญาณของการเสื่อมสภาพ ดังนั้นวิศวกรจึงเปลี่ยนไปใช้เครื่องขับดันอีกชุดหนึ่ง ซึ่งใช้งานได้แม้จะไม่ได้ใช้งานมา 37 ปีแล้ว


ยานโวเอเจอร์ 2 แฝดของยานโวเอเจอร์ 1 (ปัจจุบันอยู่ห่างจากโลก 1.21 หมื่นล้านไมล์ หรือ 1.95 หมื่นล้านกิโลเมตร) ยังคงทำงานตามปกติ

ยานโวเอเจอร์ทั้งสองใช้งานได้นานกว่าที่ผู้วางแผนภารกิจคาดไว้มาก และเป็นยานอวกาศเพียงลำเดียวที่รวบรวมข้อมูลในอวกาศตรงพื้นที่ระหว่างดวงดาว  ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่นี้ช่วยผลักดันให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเฮลิโอสเฟียร์ ซึ่งเป็นแนวกั้นแบบกระจายที่ดวงอาทิตย์สร้างขึ้นรอบๆ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา

ยานอวกาศแต่ละลำผลิตพลังงานไฟฟ้าได้น้อยกว่า 4 วัตต์ต่อปี ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถที่ยานทำงานได้  ทีมวิศวกรรมภารกิจได้ปิดระบบย่อยและเครื่องทำความร้อนต่างๆ เพื่อสำรองพลังงานสำหรับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และระบบที่สำคัญ ยังไม่มีการปิดเครื่องมือวิทยาศาสตร์อันเป็นผลมาจากพลังงานที่ลดน้อยลง และทีม Voyager กำลังทำงานเพื่อให้ยานอวกาศทั้งสองทำงานและส่งข้อมูลได้จนถึงอย่างน้อยปี 2025

Source : NASA
Article By : โลกไอทีวันนี้ 

Comments